วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ความห่วยของคดีลอตเตอรี่หายที่บุรีรัมย์







คือถ้าคุณผู้อ่านที่ตามข่าว สลากกินแบ่งรัฐบาลหายที่บุรีรัมย์มาตลอด ผมก็คงไม่ต้องเท้าความมาก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ตามข่าวเลยหรือตามมาน้อย

ผมขอสรุปข่าวในช่วงเกิดเรื่องดังนี้

นายพันธ์ศักดิ์ เสือชุมแสง ชาวบุรีรัมย์ มาแจ้งความกับตำรวจ สภ.นางรอง บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 ว่า ตัวเองถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 2 คู่ เป็นเงินรางวัล 12 ล้านบาท ของงวดวันที่ 16 สิงหาคม 2560 หมายเลข 715431 แต่ตนได้ทำสลากหายไป

ซึ่งเมื่อตำรวจได้เช็คกับกองสลาก พบว่า คนที่ไปขึ้นรางวัลที่ 1 กลับเป็นสองคนผัวเมียชาวร้อยเอ็ด  ที่ต่อมาได้มาให้การกับตำรวจว่า พวกเขามาทำงานและแวะซื้อของที่บุรีรัมย์ แล้วแวะทานอาหาร ก็มีพ่อค้าเร่เดินมาขายสลากที่ถูกรางวัลที่ 1 ให้เขาถึง 3 คู่ เป็นเงินรางวัล 18 ล้านบาท ที่ร้านอาหาร (แต่ที่นายพันธ์ศักดิ์อ้างว่าของตนมีแค่ 2 คู่)

-------

จากที่ผมอ่านข่าวมา ผมตั้งข้อสังเกตได้ว่า นายพันธ์ศักดิ์ ถูกพ่อค้าสลากที่นายพันธ์ศักดิ์ มักแวะซื้อสลากตามเลขทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ 5431 ของตัวเองเป็นประจำจากพ่อค้าสลากเจ้านี้ ได้เข้ามาทักว่า งวดนี้ถูกรางวัลที่ 1 ใช่ไหม


นายพันธ์ศักดิ์ ชี้เลขทะเบียนรถมอไซค์ของตัวเองที่ตรงกับเลขท้ายรางวัลที่ 1 

เพราะรางวัลที่ 1 งวดนั้น มันตรงกับต้นขั้วสลากที่พ่อค้าสลากที่บุรีรัมย์คนนี้ขายไปพอดี

ตัวพ่อค้าสลากเจ้านี้จึงเข้าใจไปว่า ลูกค้าที่ถูกรางวัลที่ 1 ไปคงจะเป็นนายพันธ์ศักดิ์  เพราะนายพันธ์ศักดิ์มักมาซื้อเลข 5431 หรือ 431 นี้เป็นประจำ จึงได้เข้าไปทักทายนายพันธ์ศักดิ์ว่า งวดนี้ถูกรางวัลที่ 1 ใช่ไหม

เมื่อนายพันธ์ศักดิ์ ถูกพ่อค้าสลากมาทักแบบนี้ ก็เลยรีบสวมรอยทันทีว่า ตัวเองได้ทำลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หาย ต่อมาจึงได้ไปแจ้งความเมื่อวันที่ 20 สิงหา ซึ่งมันช้ากว่าวันที่สลากออกไปถึง 4 วัน

(แปลกไหมที่มาแจ้งความหลังสลากออกไปแล้วตั้ง 4 วัน ? ซึ่งปกติจะมีสักกี่คนที่จำเลขบนสลากที่ตัวเองซื้อได้ครบทั้ง 6 ตัว)

นายพันธ์ศักดิ์ ได้ไปแจ้งความกับตำรวจว่า ตัวเองได้ทำสลากรางวัลที่ 1 หายไป 2 คู่ เป็นเงินรางวัลรวม 12 ล้านบาท โดยไม่ได้มีหลักฐานอื่นใดเลย เช่น รูปถ่ายสลากก่อนจะหาย จะมีแค่เพียงคำกล่าวอ้างของพ่อค้าสลากเท่านั้นที่บอกว่า ได้ขายสลากคู่นั้นให้ตนเอง

แล้วพอตำรวจถามว่า ถ้าเอาสลากไว้ในบ้านจริง ๆ อยู่ ๆ สลากมันจะหายไปได้ยังไง

นายพันธ์ศักดิ์ เลยอ้างว่า ไม่แน่ใจว่าหายไปได้ยังไง อาจเพราะมีเด็กแถวบ้านที่มาเล่นที่บ้านเป็นประจำเข้ามาขโมยไปมั้ง 

ซึ่งเด็กคนที่ถูกนายพันธ์ศักดิ์อ้างว่า อาจเป็นคนที่ขโมยสลากไปนั้น  ก็เป็นญาติของนายพันธ์ศักดิ์เอง มีศักดิ์เป็นหลานของนายพันธ์ศักดิ์

ซึ่งต่อมา เมื่อตำรวจได้เรียกพ่อค้าสลากคนที่นายพันธ์ศักดิ์กล่าวอ้างถึง มาสอบปากคำ  แต่พ่อค้าสลากเจ้าของต้นขั้วของสลากฉบับปัญหาดังกล่าว ก็กลับให้การว่า ตัวเองก็จำไม่ได้ว่า ขายสลากฉบับนั้นให้ใครไป 

----------------------

ตำรวจ ใช้วิธีตรวจดีเอ็นเอบนสลากเพื่อหาเจ้าของตัวจริง

ซึ่งผลตรวจ DNA ออกมาแล้วสรุปว่า ไม่มี DNA ของนายพันธ์ศักดิ์ เลยแม้แต่นิดเดียวบนสลากที่ถูกรางวัลที่ 1

หรือแปลง่าย ๆ ว่า นายพันธ์ศักดิ์ ไม่เคยแตะต้องหรือจับสลากฉบับที่ถูกรางวัลที่ 1 มาก่อนเลย

แต่บนสลากมี DNA ของสองผัวเมียชาวร้อยเอ็ดทั้งคู่อยู่เต็ม ๆ และไม่มี dna ของเด็กอายุ 14 ที่ถูกนายพันธ์ศักดิ์ กล่าวหาด้วย

ซึ่งนายพันธ์ศักดิ์ ตัวการของคดีนี้ ก็ยอมรับในผลตรวจ DNA และรีบทำการขอโทษต่อสองผัวเมียทันที

เพราะในตอนแรกสองผัวเมียกะจะเอาเรื่องในคดีหมิ่นประมาทกับนายพันธ์ศักดิ์ ที่ทำให้พวกเขาสองคนต้องเสียชื่อเสียง เสียเครดิต และถูกผู้คนในสังคมมองว่า เป็นคนขี้ขโมย

โอเค ในเมื่อสองผัวเมียชาวร้อยเอ็ด เขายกโทษและให้อภัยแก่นายพันธ์ศักดิ์ โดยไม่เอาเรื่องคดีหมิ่นประมาทอีก นั่นเป็นสิทธิของพวกเขา


นายพันธ์ศักดิ์ ขอโทษสองผัวเมียเจ้าของสลากตัวจริง


ว่าแต่ทำไมตำรวจ สภ.นางรอง กลับไม่ดำเนินคดีกับนายพันธ์ศักดิ์ ในข้อหาแจ้งความเท็จ ?

-----------------

ทำไมตำรวจไม่ดำเนินคดีแจ้งความเท็จแก่นายพันธ์ศักดิ์ วะ

ในเมื่อไม่มีดีเอ็นเอของนายพันธ์ศักดิ์บนสลากที่ถูกรางวัลเลย ก็เป็นที่แน่ชัดว่า นี่คือการแจ้งความเท็จว่า ทำสลากหาย

การที่ตำรวจต้องเสียเวลาในหน้าที่ราชการไปตามสืบคดีโกหกที่นายพันธ์ศักดิ์กุเรื่องขึ้นมา มันต้องใช้เงินภาษีของชาติในการสืบสวนคดีหรือไม่ ?

แทนที่เวลาทุกนาทีที่มีค่า ตำรวจจะไปทำในคดีอื่น ๆ ก็ต้องมาเสียเวลากับคดีโกหกนี้

แล้วค่าตรวจดีเอ็นเอ ของทั้ง 4 คน (รวมเด็กอายุ14ด้วย) ใครออกเงินค่าตรวจไม่ทราบ ?

มีตำรวจนายใดได้ใช้เงินส่วนตัวในการออกค่าใช้จ่ายในการสืบสวนคดี ในการตรวจดีเอ็นเอหรือไม่ ?

ถ้าไม่มีตำรวจนายใด ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ มันก็ต้องเป็นเงินภาษีของประชาชนไปใช้ ใช่หรือไม่ ?

การที่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้เพื่อคดีกำมะลอของนักโกหกคนนึงไปใช้เปล่า ๆ ไอ้คนโกหกแจ้งความเท็จ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยเหรอ ?

หรือว่า นายพันธ์ศักดิ์ จะยอมจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ในข่าวก็ไม่เห็นมีบอกไว้


ตามข่าว  นายตำรวจนายหนึ่ง ที่ สภ.นางรอง กล่าวว่า "คิดว่าคดีนี้เจตนาไม่ใช่แจ้งความเท็จ แต่มาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่า สลากที่หายเป็นของตนหรือไม่ ซึ่งวันนี้ก็ได้หายสงสัยแล้ว"
https://www.thairath.co.th/content/1150912

ซึ่งมันเป็นเหตุผลที่ห่วยมากเลยนะครับ คุณตำรวจ

ถ้าท่านอ้างแบบนี้ ต่อไปใครเกิดรู้ว่า มีคนแถว ๆ บ้านถูกรางวัลที่ 1 แล้วเกิดไปรู้ว่า เขาซื้อสลากมาจากแผงไหน ก็จะเอามากล่าสอ้างลอย ๆ ว่า ตัวเองทำสลากหายกันง่าย ๆ กันบ้านทั่วเมืองกันล่ะทีนี้


----------------

พ่อเด็กอายุ 14 ที่ถูกนายพันธ์ศักดิ์กล่าวหาว่า ขโมยสลาก เอาเรื่องนายพันธ์ศักดิ์

นายพันธ์ศักดิ์ ได้กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า "ไม่รู้เด็กแถวบ้านเข้ามาขโมยหรือไม่ เพราะเด็กผู้ต้องสงสัยมักมาเล่นที่บ้านเป็นประจำ แต่พอมีคดีสลากหาย เด็กคนนี้ก็ไม่มาที่บ้านอีกเลย"

การที่นายพันธฺศักดิ์ พูดชุ่ย ๆ ลอย ๆ ทำนองนี้ มันส่งผลกระทบต่อเด็กอายุ 14 คนนี้ และครอบครัว จนทำให้เด็กถูกเพื่อน ๆ ในโรงเรียนล้อและตราหน้าว่า เป็นหัวขโมย จนเด็กไม่กล้าไปโรงเรียน ส่วนพ่อของเด็กก็ถูกมองว่า ไม่สั่งสอนลูก ปล่อยลูกให้เป็นหัวขโมย

(แล้วสมมุติถ้าเด็กขโมยจริง ทำไมไม่เก็บสลากให้พ่อไปขึ้นรางวัลเอง แต่สลากดันไปอยู่กับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติเลย)

ซึ่งตำรวจ สภ.นางรอง กลับบอกว่า นายพันธ์ศักดิ์ คงไม่ได้มีเจตนากล่าวหาเด็กว่า ขโมย  เพราะนายพันธ์ศักดิ์ เขาแค่สงสัยเฉย ๆ (ถถถ!!)

ผมล่ะงงกับตรรกะความคิดของตำรวจที่ สภ.นางรองจริง ๆ ที่โคตรจะเข้าข้างคนผิด เข้าข้างคนโกหกเลยจริง ๆ จนชักเป็นที่น่าสงสัย !!?

คดีที่นายพันธ์ศักดิ์ แจ้งความว่า ได้ทำสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 หาย มันสร้างผลกระทบต่อคนอื่นจนเขาได้รับความเสียหาย มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมในเรื่อง การแจ้งความชุ่ย ๆ ว่า ทำสลากหายกันง่าย ๆ โดยไม่มีวัตถุพยานหลักฐานอะไรเลย รวมทั้งพยานบุคคลด้วย

แต่ตำรวจกลับไม่เอาเรื่องนายพันธ์ศักดิ์ในคดีแจ้งความเท็จ  แบบนี้ตำรวจ สภ.นางรอง กำลังเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม กม.อาญา มาตรา 157 หรือไม่ ?

ผมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทบทวนเรื่องนี้ให้ชัดเจนแล้วล่ะว่า ต่อไปจะมีวิธีการป้องกันการเกิดคดีโกหกแบบง่าย ๆ นี้อย่างไร เพราะตำรวจของท่านดันวินิจฉัยว่า นี่ไม่ใช่การแจ้งความเท็จ !!

ไม่งั้น การแจ้งความกับตำรวจแบบมักง่ายแบบนี้ ใคร ๆ ก็จะเอาเยี่ยงอย่างนายพันธ์ศักดิ์ จนสังคมวุ่นวายได้

ดูคลิป พ่อเด็กอายุ 14 กับเด็กอายุ 14 พูดถึงกรณีถูกกล่าวหา และดูหน้านายพันธ์ศักดิ์ด้วย มันช่างด้านจริง ๆ




ดูหน้าชัด ๆ ของนายพันธ์ศักดิ์ 

-----------------

ต่อไปผล DNA ก็ไม่ชัวร์ว่าจะพิสูจน์เจ้าของสลากตัวจริงได้

คือ ถ้าตำรวจใช้วิธีตรวจ DNA บนสลากในการสืบหาเจ้าของสลากตัวจริง

ผมเชื่อว่า ต่อไปเวลาคนไปซื้อสลาก เขาก็จะเอามือลูบสลากบนแผงไปทุกใบ เพื่อหวังให้มี DNA ของตัวเองติดไปบนสลากที่ตัวเองไม่ได้ซื้อด้วย

เผื่อว่าต่อไปเขาจะได้เลียนแบบนายพันธ์ศักดิ์ที่ไปแจ้งความโกหก แต่กลับไม่เป็นการแจ้งความเท็จกับตำรวจไทยได้บ้าง

ดูคลิป เบนซ์ อาปาเช่ โชว์ การลูบสลากทุกใบ ครับ 555



--------------------

การเซ็นชื่อบนสลาก ป้องกันได้ไหม

ถ้าใครซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมา แล้วรีบเซ็นชื่อบนหลังสลากทันที ก็นับว่าเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด เพราะบ่งชี้ความเป็นเจ้าของได้ แล้วเมื่อทำสลากใบนั้นหาย ก็ไม่มีใครเอาไปขึ้นรางวัลได้ (ง่ายๆ)

เพราะมันจะมีปัญหาว่า ทำไมคนมาขึ้นรางวัลไม่ใช่คนที่เซ็นชื่อหลังสลากใบนั้น

แต่ !! มันมีปัญหาอยู่อย่างนึงที่คนซื้อสลากต้องรู้ก็คือ

พวกแผงรับซื้อรางวัลเลขท้าย หรือรับซื้อรางวัลไม่ใหญ่มาก เช่น รางวัลที่ 4 หรือที่ 5 เขาจะไม่รับซื้อสลากที่มีการเซ็นชื่อเจ้าของสลากไว้ด้านหลัง

เพราะมันทำให้เขานำไปขึ้นเงินรางวัลที่กองสลากแทนเจ้าของสลากที่นำสลากมาขายต่อไม่ได้

เช่น ถ้าคุณผู้อ่านซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมา แล้วเซ็นชื่อตัวเองไว้หลังสลาก แล้วสลากใบนั้นเกิดถูกแค่เลขท้าย 2 ตัว คุณผู้อ่านก็ต้องไปขึ้นรางวัลเลขท้ายที่กองสลากเองนะครับ

------------------

แล้วจะทำอย่างไรดีในการซื้อสลาก แต่ยังไม่อยากเซ็นชื่อไว้หลังสลาก ?

คือมีคนจำนวนมากที่ไม่อยากไปขึ้นรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวที่กองสลากด้วยตัวเอง จึงไม่อยากจะเซ็นชื่อไว้หลังสลากกัน เพื่อจะได้นำสลากมาขายต่อได้

ผมว่า ถ้าแบบนี้คงต้องถ่ายรูปสลากใบนั้น ๆ ไว้เป็นหลักฐานไว้ในโทรศัพท์ไว้ก่อนล่ะครับ หรือจะนำรูปสลากขึ้นเฟสบุ๊คส่วนตัวด้วยก็ได้ ประกาศให้เพื่อนสนิทช่วยรับรู้ไว้ 555

แล้วพอมันไม่ถูกรางวัลอะไรเลย ก็ฉีกทิ้งไป แต่ถ้าถูกรางวัลเลขท้าย เพื่อนสนิทก็คงจะรู้กันทั่วว่าคุณถูกรางวัลเลขท้าย อิอิ

---------------------

คดีเลียนแบบนายพันธ์ศักดิ์ แท็กซี่แจ้งความว่า ทำสลากหาย 




ลุงแท็กซี่ แกไม่ได้มีหลักฐานอะไรเลยมาแจ้งความ เอาตามที่แกมโนล้วน ๆ  รูปถ่ายสลากก่อนหายก็ไม่มี คนขายสลากให้แกที่จะมาเป็นพยานก็ไม่มี

แต่แกก็ทำให้ตำรวจไทยมีงานทำจนได้ เพราะตำรวจดันช่วยตามสืบคดีให้

เพราะลุงแกคิดว่า ตำรวจไทยว่างมากไง

คดีนี้ตำรวจตามสืบจากแผงสลากที่ลุงแท็กซี่คนนี้กล่าวอ้างว่า ได้ซื้อสลากรางวัลที่ 1 จากแผงดังกล่าว

เจ้าของแผงยืนยันว่า ไม่มีต้นขั้วของหมายเลขที่ลุงแท็กซี่อ้าง เขาไม่ได้ขายหมายเลขนี้

แต่ลุงแท็กซี่แกก็พยายามจะแถ ส่วนตำรวจไทยก็ใจดีจริง ๆ เลย ที่ยังไม่แจ้งข้อหาแจ้งความเท็จให้ลุงแท็กซี่แก

------------------

สรุปท้ายบทความ

ผมคิดว่า ถ้าคนที่ทำสลากรางวัลที่ 1 หายจริง ๆ ก็ควรมีหลักฐานอะไรที่มีมากกว่าแค่มโน แล้วมาแจ้งความ

ตำรวจไทยก็ไม่ต้องใจดี ทำคดีมโนแบบนี้ไปซะทุกคดีหรอก ถ้าคดีนั้นไม่มีการกล่าวหาทำให้คนอื่นเขาเสียหาย

ต่อให้สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกขโมย ๆ ไปก่อนวันหวยออกจริง ๆ แล้วมันไม่ถูกรางวัลใด ๆ เลย ก็คงไม่มีใครคิดมาแจ้งความจริงไหม

เพราะที่เห็น ๆ คือ รู้ว่ารางวัลที่ 1 ออกหมายเลขอะไรไปแล้ว ถึงเพิ่งมาแจ้งความกันที่หลัง เหอะ ๆ

แล้วจะมีใครสักกี่คนที่ซื้อสลากมาแล้วจะจดและจำหมายเลขบนสลากและหมวดสลากไว้ได้ทุกตัว ?

ตำรวจไทยควรประกาศไปเลยว่า ถ้าต่อไปจะมาแจ้งความเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลหาย อย่างน้อยต้องมีรูปของสลากฉบับนั้นก่อนหายมาแจ้งความด้วย ไม่งั้นจะไม่รับแจ้งความ 

หรือไม่งั้นก็ต้องมาลงบันทึกประจำวันก่อนวันหวยออกว่า ได้ทำสลากกินแบ่งรัฐบาลหมายเลขนั้น ๆ หายก่อนวันหวยออก มิเช่นนั้น ตำรวจจะไม่รับแจ้งความ

ทำแบบนี้ดีไหม ฝากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปพิจารณาดู

แต่บอกตรงนะครับ แม้แต่บางทีพยานที่เป็นคนขายสลากฉบับรางวัลที่ 1 เองก็ตาม ก็เชื่อถือไม่ได้ 100 % หรอกครับ เพราะคนขายจะไปจำว่าเลขหมายไหนขายให้ใครไปเป๊ะ ๆ ถ้าไม่มีการจดบันทึกหมายเลขสลากและให้ลูกค้าเซ็นรับรองไว้

คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ผมว่า มันบอกกล่าวอะไรได้มากมายเกี่ยวกับสังคมไทยในวันนี้นะ

คุณผู้อ่านลองคิดดูว่า มีคดีแบบนี้ที่ไหนในโลกบ้าง ผมเองยังไม่เคยได้ยินเลย

นอกจากไทยแลนด์โอนลี่ ที่เดียว เหอะ ๆ 

คลิกอ่าน ยุดเสื่อมเมื่อพระถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1