วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ความลับของการสอบเข้า ป.1 โรงเรียนสาธิต







เรื่องการสอบเข้า ป.1 คือ ผมไปเห็นจากข่าวในเพจไทยพีบีเอส จาก รายการสามัญชนคนไทย โดยคุณมาโนช พุฒตาล ได้ไปสัมภาษณ์ นักวิชาการหญิงคนนึงที่ เธออยากให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1

เพราะเธอคิดว่า เด็กในวัยนี้ยังเล็กเกินไป ยังไม่ควรต้องมาเครียดกับเรื่อง(งี่เง่า) แบบนี้

ซึ่งตอนนี้มีร่าง พ.ร.บ. เด็กปฐมวัย ที่จะกำหนดห้ามให้มีการสอบเข้าอนุบาล ถึง ป.1 


ผมไม่แน่ใจว่า พวกนักวิชาการที่พยายามคัดค้านการสอบเข้า ป.1 เคยรู้ข้อเท็จจริงมากแค่ไหนว่า การสอบเข้า ป.1 ของเด็ก ๆ มันมีอะไรซ่อนเงื่อนมากกว่าที่นักวิชาการอ้าง 

เพราะดูเหมือนนักวิชาการที่สนับสนุน พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย กำลังจะยิ่งช่วยเปิดช่องให้โรงเรียนดังหาผลประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น เพราะนักวิชาการบอกว่า ให้เลิกการสอบเข้า ป.1 กับเด็ก ๆ แต่ให้มาสอบที่ตัวผู้ปกครองของเด็ก ๆ แทน



ผมเลยไปแสดงความเห็นที่เพจข่าวนั้นก่อนตามรูป ซึ่งก็มีคนเห็นด้วยกับความเห็นของผมพอควร

ก่อนที่ผมจะมาอธิบายละเอียดลงในเพจของผมอีกที ซึ่งผมได้ยกโพสนั้นมาเขียนลงในบทความนี้แล้ว

โพสความเห็นในเพจไทยพีบีเอสของผม




การสอบเข้าป.1 แท้จริง คืออะไร ?

นักวิชาการที่ต่อต้านการสอบเข้า ป.1 ของเด็ก ๆ กำลังหลงประเด็นทั้งหมด ขอบอก

เช่น โรงเรียนสาธิตฯ ที่รับเด็กป.1 ที่มีคนอยากให้ลูกเข้าเรียนที่นี่มากที่สุดแห่งนึง

ที่เขาจัดการสอบเด็ก เพื่อคัดเลือกเข้า ป.1 มันแค่พอเป็น #พิธีบังหน้า (มีผลต่อการคัดเด็กบ้างแต่ไม่ใช่ตัวแปรทั้งหมด)

ต่อมาโรงเรียนเขาจะดูประวัติพ่อแม่ก่อน คือเรียกพ่อแม่มาสัมภาษณ์

ถ้าพ่อแม่คนไหนไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ แปลว่า ลูกของคุณมีโอกาสสอบไม่ติดเกิน 70% เว้นแต่พ่อแม่บางอาชีพอาจไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ แต่เขาจะรับเด็กแน่นอน (อ่านเรื่องบางอาชีพพ่อแม่ต่อ ในช่วงตอบคำถามด้านล่างบทความ)

หลังจากนั้นแหละ ถึงจะประกาศผลสอบว่า เด็กคนไหนสอบติด

สรุปเลยนะ คือ  เขาคัดเด็กจากการดูพ่อแม่ว่า ทำงานอะไร หรือ รวยไหม เขาคัดเลือกกันตรงนี้ โดยไม่ต้องมีการเรียกค่าแป๊ะเจี๊ยะเลยด้วยซ้ำ

แต่โรงเรียนเขาหวังผลในระยะยาวว่า เขาต้องการครอบครัวที่สามารถซับพอร์ตนโยบายและทุกกิจกรรมของโรงเรียนได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่เดือดร้อนต่างหาก
#ผลประโยชน์ของโรงเรียนมันอยู่ตรงนี้

ดังนั้น พ่อแม่ที่จะส่งลูกเข้าสอบคัดเลือกเข้า ป.1 ถ้าลูกสอบไม่ติด อย่าไปโทษลูก แต่ต้องโทษพ่อแม่เองว่า รวยพอหรือมีอาชีพที่มีเกียรติพอจะเข้าตาโรงเรียนหรือไม่ต่างหากครับ

ที่จริงมันก็คือ นโยบายคัดสรรสังคมชั้นสูง น่ะ ลองไปถามนักเรียนที่นั่นดูได้ว่า แต่ละคนมาจากครอบครัวร่ำรวยหรือพ่อแม่มีเงินเดือนสูง ๆ หรืออาชีพที่จะมีเกียรติสูงขึ้นภายภาคหน้า ทั้งนั้นแหละ

ความเท่าเทียมกันไม่มีจริง ๆ หรอก



วิธีที่ดีที่สุดของการรับนักเรียนเข้า ป.1 ก็คือ การจับสลากแบบเปิดเผยเท่านั้น จึงจะยุติธรรมที่สุด

แต่ถ้าให้พ่อแม่มาสอบแทนลูกได้ แบบนี้ยิ่ลเข้าทางคนรวยและ อ้อยเข้าปากช้าง จนท.บางคน
--------------------

ตอบคำถามท้ายบทความ

คุณผู้หญิงท่านนึง ถามผมว่า อาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมดนะคะ เพราะลูกเรียนอยู่โรงเรียนสาธิตแถวบางเขนค่ะ ใช้เกณฑ์สอบเข้า โดยไม่ได้เรียก ผปค. เข้าไปสัมภาษณ์อะไรเลยค่ะ

ขอตอบว่า ใช่ครับมันไม่ได้เป็นตามที่ผมเล่า 100 % หรอก มันต้องเผื่อกันข้อครหาบ้าง

แต่ถ้าผู้ปกครองเป็นข้าราชการเช่น ชั้นสัญญาบัตร เป็นอาจารย์มหาลัย เป็นหมอ หรือ ทำงาน ปตท. การบินไทย การท่าอากาศยาน เป็นต้น บางทีเขาไม่ต้องเรียกพ่อแม่มาสัมภาษณ์ครับ เพราะอาชีพมันชัดเจน เขาเอาเด็กเข้าเลย


มีคุณผู้ชายท่านนึง ถามผมว่า นักวิชาการต่อต้านความเท่าเทียมหรือครับ มีลิ้งค์ไหม ผมว่าไม่น่าใช่ น่าจะเป็นเรื่องความพร้อมของเด็กมากกว่า


ขอตอบว่า ที่เขาคัดเด็กเก่งจริง ๆ ไว้เขาก็พิจารณาครับ แต่ถ้าเด็กเก่งเท่า ๆ กันหลายคน เขาจะคัดที่ครอบครัวเป็นตัวแปรต่อมา

แน่นอน เขาต้องมีคัดเอาเด็กเก่งแท้ ๆ ครอบครัวปานกลางเข้าไปบ้าง เพราะเขาก็ต้องทำให้ทุกอย่างมันเนียนด้วย กันข้อครหา เพราะเด็กเก่ง ๆ มันก็มีผลต่อการช่วยเด็กคนอื่น ๆ ทางอ้อม เขาก็อยากให้สังคมเขาโดยรวมฉลาดขึ้นด้วยครับ


คุณผู้หญิงอีกท่านนึง ถามผมว่า เดี๋ยวนี้ลูกคนรวยเขาเรียนโรงเรียนอินเตอร์กันหมดแล้ว เช่นลูกดาราแต่ละคนเรียนโรงเรียนอินเตอร์กันทั้งนั้น

ขอตอบว่า ถ้าแค่รวยอย่างเดียว บางคนเขาก็ไม่อยากให้ลูกต้องไปแย่งชิงแข่งขัน เขาก็มักส่งเข้าอินเตอร์ แต่ที่เขาเลือกสาธิต ซึ่งภาคปกติเข้ายากกว่า สาธิตภาคอินเตอร์ เพราะเขาต้องการเข้าสังคมและต่อลู่ทางเส้นสายให้ยาวขึ้น ที่โรงเรียนสาธิตก็มีภาคอินเตอร์แถมแพงมากด้วยครับ สามารถเลือกภาคอินเตอร์ได้ตั้งแต่ ป.1 ก็ได้ หรือไปเลือกตอนชั้นโตกว่านี้ก็ได้ คนรวยจริง ๆ หลายครอบครัว เขามักจะคิดว่า เรื่องภาษาไว้จบ ม.3 ม.6 ค่อยส่งลูกไปเรียนเมืองนอกก็ได้ หรือจะส่งเรียนภาษาในปิดภาคฤดูร้อนที่ ตปท.ก็ได้ แต่ตอนนี้อยากลูกต้องมีคอนเนคชั่นกับสังคมชั้นสูงของครอบครัวเพื่อน ๆ ก่อน